โครงการทัศนศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทย
- นวัตกรรมทางศิลปะ และวัฒนธรรม
- 31 มี.ค.
- ยาว 1 นาที








เมื่อวันที่ 9-11 มีนาคม 2568 สาขาวิชานวัตกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดทำโครงการทัศนศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทยขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมในบริบทของสังคมไทยผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ และเพื่อบูรณาการในการเรียนรู้ในชุดวิชา FA 501 102 การสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์ทางศิลปะและวัฒนธรรม โดยใช้แหล่งท่องเที่ยวทางภูมิปัญญา ศิลปะและวัฒนธรรมภาคเหนือเป็นฐานการเรียนรู้สร้างสรรค์ผลงาน ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ทางศิลปะและวัฒนธรรม ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ บนแนวคิดทฤษฎีดิจิทัลคอนแทนต์ทางสาขาวิชานวัตกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม ขอขอบพระคุณแหล่งเรียนรู้ Kachama Studio และสวนศิลป์อีโรติก ที่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ประสบการณ์ตรง จากความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานระดับโลก รวมทั้งแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ได้แก่ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ประตูท่าแพ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร คาล์ม วิลเลจ พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก
กิจกรรมในวันที่ 9 มีนาคม 2568 นักศึกษาได้เข้าศึกษาองค์ความรู้หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่รวบรวมและจัดแสดงประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่และล้านนา ประวัติความเป็นมาของอาคารที่ตั้งเคยเป็นหอคำ ศาลาว่าการมณฑลพายัพ และศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่มาก่อน ต่อมาเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ในปี พ.ศ. 2540 สิ่งที่น่าสนใจ คือมีการจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน มีการจัดแสดงวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมล้านนา มีนิทรรศการหมุนเวียนและกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ความสำคัญ คือ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเชียงใหม่ รวมทั้งได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมและด้านความสัมพันธ์กับชุมชนอีกด้วย
หลังจากที่นักศึกษาได้ศึกษาองค์ความรู้หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ นักศึกษาได้เข้าศึกษาองค์ความรู้ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ มีความสำคัญคือ เป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ เป็นวัดประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีมะโรง (งูใหญ่) ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปะล้านนา เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสักการะ
และนักศึกษาได้เข้าศึกษาองค์ความรู้ที่ประตูท่าแพ ซึ่งเป็นประตูเมืองทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญของเมืองแห่งนี้ ชื่อเดิมคือ ประตูท่าแพ มีชื่อเดิมว่า "ประตูเชียงเรือก"สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยพญามังราย เมื่อแรกสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839 ประตูท่าแพที่เราเห็นในปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2528 โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ และกรมศิลปากร โดยอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีตในอดีตประตูท่าแพเป็นประตู 2 ชั้น มีป้อมปราการสำหรับป้องกันเมือง
ในวันที่ 10 มีนาคม 2568 นักศึกษาได้เข้าศึกษาองค์ความรู้ศิลปะและวัฒนธรรมที่ คาชามา สตูดิโอ (Kachama Studio) ผ้าและวัสดุธรรมชาติ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสตูดิโอผ้าทอในจังหวัดเชียงใหม่ ที่โดดเด่น ในด้านงานผ้าทอมือ มุ่งเน้นการสร้างสรรค์งานผ้าทอมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผสมผสานลวดลายดั้งเดิมเข้ากับดีไซน์ร่วมสมัย ผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ เช่น เสื้อผ้า ผ้าพันคอ โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพของวัสดุและการตัดเย็บ ส่วนด้านเอกลักษณ์มีการนำเอาแนวคิดเรื่องการออกแบบที่ผสมผสานความเป็นศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาปรับประยุกต์ให้กลมกลืนกัน โดย Kachama Studioเป็นสตูดิโอที่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ชื่นชอบงานผ้าทอมือและงานดีไซน์เป็นอย่างมาก
หลังจากนั้นนักศึกษาได้เข้าศึกษาองค์ความรู้ศิลปะและวัฒนธรรมที่ สวนศิลป์อีโรติก (Erotic Garden & Teahouse) เจ้าของคือ คุณเพชราวรรณ คา มิงก้า และสามี ซึ่งเป็นนักโบราณคดีชาวออสเตเลีย อยู่ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นด้วยประติมากรรมและศิลปะแนวอีโรติกสวนแห่งนี้มีการจัดแสดงประติมากรรมและศิลปะที่มีสัญลักษณ์ทางเพศอย่างเปิดเผย เช่น ศิวลึงค์ขนาดใหญ่ รูปปั้นแสดงสรีระของหญิงสาว และงานศิลปะอื่นๆ ที่สื่อถึงเรื่องเพศเจ้าของสวนมีเจตนาที่จะนำเสนองานศิลปะเหล่านี้ในมุมมองของความงามและจินตนาการมากกว่าที่จะเน้นไปที่เรื่องเพศเพียงอย่างเดียว ความน่าสนใจสวนศิลป์ แห่งนี้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ศิลปะในรูปแบบที่แตกต่างและกล้าแสดงออกเป็นสถานที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้พิจารณาและตีความศิลปะในมุมมองที่หลากหลาย
สถานที่สุดท้ายในวันที่ 10 คาล์ม วิลเลจ เชียงใหม่ โดยคามวิลเลจ (Kalm Village) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและศิลปะที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ คำว่า"คาม" มาจากการผสมผสานระหว่างคำว่า "คาม" ในภาษาไทยที่แปลว่าหมู่บ้าน และ "Calm" ในภาษาอังกฤษที่แปลว่าความสงบเรียบง่าย มีแนวคิดที่ต้องการนำเสนอวิถีชีวิตที่เรียบง่ายผ่านงานศิลปะ หัตถกรรม และวัฒนธรรมไทย สิ่งที่น่าสนใจเป็นแหล่งรวมงานศิลปะและหัตถกรรมจากทั่วประเทศมีการจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนให้ชมมีสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์มีบรรยากาศที่เงียบสงบและร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อน มีร้านอาหารและร้านกาแฟไว้บริการ
ในวันที่ 11 มีนาคม 2568 ระหว่างเดินทางกลับมหาวิทยาลัยขอนแก่น นักศึกษาได้ไปสักการะพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน ซึ่งพระธาตุหริภุญชัยเป็นพระธาตุสำคัญคู่เมืองลำพูน ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ใจกลางเมืองลำพูน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าอาทิตยราช ราวพ.ศ. 1586 ต่อมาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้งโดยกษัตริย์แห่ล้านนา เช่น พระเจ้าติโลกราช และพระเจ้ากาวิละ เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีระกา (ไก่) ตามความเชื่อของชาวล้านนา ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ทรงระฆัง (ทรงกลม) แบบล้านนา หุ้มด้วยทองจังโกภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีฐานปัทม์แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จมีสัตติบัญชร (รั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น มีซุ้มกุมภัณฑ์และฉัตรประจำสี่มุม มีหอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอสิ่งที่น่าสนใจภายในวัด คือ ซุ้มประตูเป็นซุ้มประตูที่สวยงาม มีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนอยู่หน้าซุ้ม วิหารหลวงเป็นวิหารหลังใหญ่ที่มีพระระเบียงรอบด้าน
หลังจากนั้นได้เดินทางไปสักการะพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือที่นิยมเรียกกันว่า "วัดใหญ่" เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นที่เคารพสักการะอย่างยิ่ง ความสำคัญ คือ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ประมาณปีพ.ศ. 1900 มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ สิ่งที่น่าสนใจ คือพระพุทธชินราช พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยที่งดงาม พระปรางค์ประธานเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น พระวิหารหลวง สถานที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช รวมทั้งมีพระพุทธรูปสำคัญอื่น ๆ เช่น พระพุทธชินสีห์พระศรีศาสดา พระอัฏฐารส และพระเหลือ เป็นต้น
Comments